ฉลาดอ่านฉลาก ลดหวานมันเค็ม
7 Mar 2011 /

การอ่านฉลากก่อนซื้อเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปตรงตามความต้องการ เนื่องจากฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่จะบอกว่าอาหารนั้นผลิตที่ใด มีส่วนประกอบ วิธีการปรุง การเก็บรักษาอย่างไร ผลิต และ/หรือหมดอายุเมื่อใด รวมถึงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร คำเตือนที่ควรระวัง และที่สำคัญได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่ โดยดูจากเลขสารบบอาหาร xx-x-xxxxx-y-yyyy ซึ่งจะมีตัวเลข 13 หลักอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. อีกส่วนที่ผู้บริโภคควรให้ความสนใจเนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม นั่นก็คือ “ฉลากโภชนาการ”
ตัวอย่างฉลากโภชนาการของขนมขบเคี้ยว
ฉลากโภชนาการ ก็คือ ฉลากอาหารที่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารนั้นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Nutrition Facts” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใส่ใจสุขภาพ หรือ ผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เพราะจะช่วยให้ทราบถึงชนิดและปริมาณสารอาหารที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ทำให้เลือกบริโภคอาหารได้เหมาะสมกับความต้องการ อีกทั้งสามารถนำมาเปรียบเทียบ
เพื่อเลือกอาหารยี่ห้อที่ให้ประโยชน์มากที่สุดได้อีกด้วย ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงสารอาหารที่ไม่ต้องการได้ เช่น เป็นโรคไตต้องควบคุมปริมาณโซเดียม หรือต้องการควบคุมโคเลสเตอรอล เป็นต้นปัญหานี้แก้ไขได้ เพียงแค่อ่านฉลากโภชนาการ
การอ่านฉลากโภชนาการ ทำได้ง่ายดาย เพียงแค่ทราบหลัก ดังนี้
- ถ้าบริโภคอาหารตามปริมาณที่ระบุใน “หนึ่งหน่วยบริโภค” ก็จะได้รับพลังงานและสารอาหารต่าง ๆ ตามข้อมูลที่แสดงใน “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค”
- ถ้าภาชนะบรรจุขนาดใหญ่ ไม่ควรบริโภคหมดในวันเดียว ควรสังเกต”จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ” ด้วย ซึ่งจะมีข้อแนะนำว่าควรแบ่งบริโภคกี่ครั้ง และบริโภคตามข้อแนะนำที่ระบุไว้
- ต้องการทราบว่าอาหารนั้นให้พลังงานเท่าไร และให้สารอาหารอะไรบ้าง อาทิ โปรตีน โซเดียม โคเลสเตอรอล ฯลฯ ในปริมาณเท่าไร ให้ดูที่ “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค” โดยเมื่อบริโภคตามปริมาณที่ระบุไว้ในหนึ่งหน่วยบริโภคก็จะได้รับสารอาหารตามนั้น เช่น จากตัวอย่าง หนึ่งหน่วยบริโภค คือ 1/8 ซอง (25 กรัม) ถ้าบริโภคตามปริมาณดังกล่าวจะได้รับพลังงาน 210 กิโลแคลอรี
- ต้องการทราบว่าบริโภคอาหารนั้นแล้วจะได้รับสารอาหาร อาทิ ไขมัน แคลเซียม ฯลฯ คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณที่แนะนำให้คนไทยรับประทาน ให้ดูที่ “ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน”
ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือต้องการลดการบริโภคไขมัน โซเดียม โดยใช้ประโยชน์จากฉลากโภชนาการ มักเข้าใจผิดว่าเมื่อบริโภคอาหารนั้นหมดทั้งซอง หรือทั้งกล่อง จะได้รับพลังงานและสารอาหารเท่ากับจำนวนตัวเลขที่แสดงอยู่ใน “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค” ซึ่งไม่แน่เสมอไป โปรดสังเกต ”จำนวนหน่วยบริโภคต่อซอง หรือ ต่อกล่อง” ด้วย หากระบุตัวเลขมากกว่า 1 เช่น จากตัวอย่างระบุว่า “จำนวนหน่วยบริโภคต่อซอง : 8” ถ้าบริโภคหมดซองในครั้งเดียว ก็จะได้รับพลังงานและสารอาหารต่าง ๆ ถึง 8 เท่าของตัวเลขที่แสดงใน “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค“ โดยหากบริโภคขนมซองที่แสดงเป็นตัวอย่างหมดทั้งซองจะได้พลังงานจากขนมซองนั้นถึง 1,680 กิโลแคลอรี ซึ่งถ้าเพิ่มการบริโภคขนมซองนี้โดยบริโภคหมดทั้งซองติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ในขณะที่ยังคงบริโภคอาหารในปริมาณใกล้เคียงกับที่เคยบริโภค และมีกิจวัตรประจำวันเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.5 กิโลกรัม และหากบริโภคติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน น้ำหนักตัวจะขึ้นประมาณ 6 กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อมองเห็นอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดใหญ่แสดงตัวเลขพลังงาน ไขมัน โซเดียม ที่ดูน้อย อย่าเพิ่งตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคแบบเพลิดเพลินหมดทั้งซอง ควรต้องดูให้แน่ใจตามข้อมูลที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเคล็ดลับการเลือกซื้อดี ๆ ที่ผู้รักสุขภาพควรบอกต่อกัน
เอกสารอ้างอิง
กรมอนามัย,สำนักโภชนาการ (2557). พิชิตอ้วน พิชิตพุง. กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี โปรเกรสซีพ.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค. (2559). หนังสือเสริมสร้างพฤติกรรมการบริโภค โครงการอาหารปลอดภัย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค. (2560). คู่มือความรู้ทางเลือกสุขภาพ. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.
ข้อมูลเพิ่มเติม
สารคดีโทรทัศน์ ตอน ไม่อยากอ้วน อ่านฉลากช่วยได้
สารคดีโทรทัศน์ ตอน อ่านฉลาก ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง





