อาการปวดหัว นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอีกด้วย การปวดหัว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเจ็บป่วย ความเครียด การอดอาหาร พักผ่อนไม่เพียงพอ การออกกำลังกายมากไป สภาพแวดล้อม เช่น อากาศ แสงสว่าง
อาการปวดหัวแบ่งเป็นหลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีสาเหตุของโรค อาการ และการรักษาหรือการใช้ยาเบื้องต้นที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการสังเกตตนเองว่ามีอาการปวดหัวแบบไหน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งอาการปวดหัวที่พบบ่อย ได้แก่
1. ปวดศีรษะจากความเครียด
พบบ่อยสุด ลักษณะการปวด คือ กด บีบ หรือรัดแน่นทั้ง 2 ข้าง กินยาแก้ปวดธรรมดา เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน แต่หากปวดบ่อกว่า 15 วันต่อเดือน นาน 6 เดือน หรือนานกว่า ควรปรึกษาแพทย์
2. ปวดศีรษะไมเกรน
พบในผู้หญิงมากกว่า มีความสัมพันธ์กับรอบเดือน และมีปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงจ้า เสียงดัง มักปวดหัวข้างเดียวแบบตุบ ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย ปวดนาน 4-72 ชั่วโมง อาจใช้ยา พาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากไม่ได้ผลควรปรึกษาแพทย์
3. อื่น ๆ
- ปวดหัว แบบคลัสเตอร์ ปวดหัวเป็นชุด ๆ มักปวดรุนแรงเวลาเดิมของทุกวัน ร่วมกับปวดบริเวณเบ้าตา อาจมีตาแดง หรือน้ำตาไหลร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
- ปวดหัว จากไซนัสอักเสบ ปวดหัวร่วมกับมีอาการไซนัส ปวดบริเวณโหนกแก้ม และหน้าผาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการไซนัสอักเสบที่เป็นต้นเหตุ และอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด
- ปวดหัว จากฮอร์โมน เกิดจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงของเพศหญิง เช่น ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงที่กินยาคุมกำเนิด หรือช่วงวัยทอง ใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวด และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาป้องกัน