อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นปัญหาโลกแตกของคนทำงาน หรือที่เราเรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เกิดจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม เช่น นั่งทำงานตลอดเวลาไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนั้น หลายคนจึงหันมาใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยดังกล่าว เรามาติดตามกันเถอะว่ามียาอะไรบ้าง
1. ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants) เช่น ออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine), โทลเพอริโซน (Tolperisone) ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงซึม และอ่อนเพลีย จึงควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมใด ๆ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับเครื่องจักร หรือการขับขี่ยานพาหนะ
2. ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาในกลุ่มนี้ควรกินหลังอาหารทันทีแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ เนื่องจากระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากใช้เป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อไตและหลอดเลือดหัวใจได้
3. ยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยใน 1 วันไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ด หรือ 4,000 มิลลิกรัม ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หากใช้เกินขนาดหรือนานเกินระยะเวลาที่กำหนด อาจเกิดพิษต่อตับได้
การกินยาเป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการปวดเมื่อยจากออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น ฉะนั้น จึงควรเลือกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง สำหรับทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอิริยาบถการทำงานให้เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดเมื่อยจากออฟฟิศซินโดรมได้