เราไอแบบไหน มาดูกัน
24 May 2019 /

อาการไอนั้น มักจะเกิดบ่อยในช่วงหน้าฝน หรือหน้าหนาว ซึ่งในการรับประทานยาแก้ไอนั้น ควรที่จะพิจารณาลักษณะการไอของตนเองก่อน เพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม การไอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- การไอแบบไม่มีเสมหะ หรือไอแห้ง
ควรใช้ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการไอ (Antitussive) โดยยากลุ่มนี้จะกดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ยากลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันคือ Dextromethophan ผลข้างเคียง คือ อาจเกิดอาการง่วงซึม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ และหลีกเลี่ยงการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หลังรับประทานยานี้ และควรระมัดระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ (แบบง่วง) แต่ยานี้ ไม่สามารถใช้รักษาอาการไอจากการสูบบุหรี่ ไอจากโรคหืด ไอจากถุงลมโป่งพอง หรือผลข้างเคียงจากยารักษาความดันได้
- การไอแบบมีเสมหะ
2.1 ยาขับเสมหะ
ยากลุ่มนี้จะเพิ่มการสร้างสารหลั่งที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ทำให้ในระยะแรกจะมีปริมาณเสมหะมากขึ้น และไอมากขึ้น ตัวอย่างยา คือ Guaifenesin, ammonium chloride, ammonia, senega, sodium citrate, ipecacuanh ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา คือ คลื่นไส้ อาเจียน
2.2 ยาละลายเสมหะ
ยากลุ่มนี้ไปทำลายโครงสร้างของเสมหะส่วนที่ทำให้เสมหะเหนียว แต่ไม่ได้ไปเพิ่มปริมาณของ ผู้ป่วยจะสามารถไอ เอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยา คือ acetylcysteine , carbocisteine, erdosteine ผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้น้อยมาก แต่ก็เคยมีรายงานว่าเกิดมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ดังนั้นใช้ยาแล้วมีอุจจาระสีดำ ให้หยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์
การจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ จะช่วยบรรเทาอาการไอได้ แต่หากมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือหลังรับประทานยาแก้ไอแล้ว 2 สัปดาห์อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
