วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2, พ.ต.อ.ขจร อบทอง รอง ผบก.สอท.2 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.จักรกฤช ศรีโรจนากูร ผกก.2 บก.สอท.2 พ.ต.ท.เอกภณ คณะญาพงศ์ และ พ.ต.ท.ไกรพล แสงดึก รอง ผกก.2 บก.สอท.2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข นำโดยเภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำโดย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันปฏิบัติการทลายแหล่งเก็บสินค้าที่ผิดกฎหมาย จับกุมเครือข่ายมิจฉาชีพฉ้อโกงประชาชน หลอกขายสินค้าผิดกฎหมาย โฆษณาเกินจริง ไม่มี อย. ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงหลอกส่งสินค้าเก็บเงินปลายทาง มีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
การลงพื้นที่ปฏิบัติการครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก อย. และตำรวจไซเบอร์ บก.สอท.2 ได้รับเรื่องร้องเรียนการโฆษณาผลิตภัณฑ์นม Dreamy Sure (ดรีมมี่ชัวร์) อวดอ้างใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ ช่วยปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้น ลดความวิตกกังวล ช่วยให้สมองไม่ทำงานหนักเกินไป และช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย โดยมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนว่าได้มีกลุ่มบุคคลใช้เว็บไซต์ dreamysure.online โพสต์ประกาศจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนมผง และโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้มีความน่าเชื่อถือ โดยผู้ร้องได้ทำการสั่งซื้อและได้ชำระเงินเพื่อซื้อนมผงยี่ห้อหนึ่ง แต่เมื่อได้รับสินค้าปรากฏว่าได้รับสินค้าเป็นนมยี่ห้อ Dreamy Sure ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ไม่มีคุณภาพ ราคาไม่สมเหตุสมผล และมีการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ทำการสืบสวนและตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้มีลักลอบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหาร ประเภทนมผง ยี่ห้อ Dreamy Sure มาแล้วจำนวนกว่า 3-4 เดือน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลการส่งพัสดุ กับบริษัทขนส่งเอกชน พบว่า ในเดือน มกราคม 2567 ผู้ส่งรายดังกล่าว ได้มีการส่งพัสดุจำนวน 4,646 ชิ้น และมีการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) จากผู้รับพัสดุ ยอดเงินโอนกว่า 9 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขอหมายจับบุคคลที่มีหลักฐานเชื่อมโยง และได้เข้าตรวจค้นที่บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ซึ่งเป็นสถานที่เก็บสินค้าที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก จากการตรวจค้นพบ MR.DINH และ MISS THAN สัญชาติเวียดนาม แสดงตนเป็นผู้ดูแลบ้าน และนำเจ้าหน้าที่ตรวจค้น จากการตรวจค้นพบของกลาง ได้แก่ สินค้า ผลิตภัณฑ์อาหาร ประเภทนมผง ยี่ห้อ Dreamy Sure และผลิตภัณฑ์อื่นที่เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย จำนวน 14 รายการ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ 1.Dreamy Sure 2.Neysure gold 3.NutriHeart 4.Royal Sleep 5.LiveSpo pro 6.BRAIN DHA NOBEL KIDS 7.BALPORO BBAE PLUS x3 8.YOTA 9. Gold Marine Sea Grapes เครื่องสำอาง ได้แก่ 1.Nakami HERBAL CONDITIONER 2.Nakami SHAMPOO 3.KOCHI JAPANESE HERBAL BLACK HAIR SHAMPOO ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ INOD ยา ได้แก่ Difasleep จึงได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดกว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งบุคคลทั้งสองให้การว่ามีไว้จำหน่ายให้บุคคลทั่วไปผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มต่าง ๆทางโลกออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ MR.DINH และ MISS THAN สัญชาติเวียดนาม ผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว เบื้องต้นว่ากระทำความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้” ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง, พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว ม.8 และความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และความผิดอื่นฯ และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้า ไม่ขออนุญาตทั้งหมด มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง โดย อย. ได้แจ้งเตือนผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซต์ อย. และส่งข้อมูลรายงานให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เช่น นมผงยี่ห้อ Dreamy sure และ Neysure Gold จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐาน หรือผลทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน และไม่มีอาหารใดที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จโฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด โดยผู้บริโภคสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์หรือที่บรรจุภัณฑ์ และควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อจากช่องทางออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว หากสินค้ามีปัญหาจะสามารถคืนสินค้าและได้รับเงินคืน ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ